สุขศึกษา




 ระบบประสาท ระบบสืบพันธุ์ ระบบต่อมไร้ท่อ 


 ระบบประสาท


          ระบบประสาทเป็นระบบที่ควบคุมการทำหน้าที่ของส่วนต่างๆ ของทุกระบบในร่างกายให้ทำงานประสานสัมพันธ์กัน เพื่อให้ร่างกายสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ทั้งภายในและภายนอกร่างกาย  ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ นอกจากนี้ระบบประสาทยังเป็นแหล่งที่มาของความคิด ความรู้สึก สติปัญญา ความฉลาดไหวพริบ การตัดสินใจ การใช้เหตุผลและการแสดงอารมณ์อีกด้วย


เซลล์ประสาท
        ร่างกายคนมีเซลล์ประสาท (nerve cell) หรือ นิวรอน (neuron) จำนวนมาก ทำหน้าที่เกี่ยวกับการรับรู้และการตอบสนอง แต่ละเซลล์อาจมีการเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับเซลล์ประสาทอื่นเป็นพันๆ เซลล์ สามารถทำงานเกี่ยวกับการรับส่งสัญญาณ ระหว่างสิ่งเร้าภายนอกกับภายในร่างกายได้อย่างมีระบบ
เซลล์ประสาทประกอบด้วย

เดนไดรต์ (dendrite)
เป็นส่วนของตัวเซลล์ ที่ยื่นออกมารับกระแสประสาท จากภายนอกเข้าสู่ตัวเซลล์ แขนงของเดนไดรต์ มีตั้งแต่หนึ่งถึงหลายแขนง และมักมีขนาดสั้น ภายในเดนไดรต์มีนิสส์ลบอดี (nissl body) และ ไมโทรคอนเดรีย

แอกซอน (axon)
เป็นส่วนของตัวเซลล์ ที่ยื่นออกมาทำหน้าที่ส่งกระแสประสาทจากตัวเซลล์ ออกไปยังอวัยวะตอบสนอง หรือเดนไดรต์ของเซลล์ประสาทอื่น ตัวเซลล์ 1 เซลล์จะมีแอกซอนเพียง 1แขนงและมักมีขนาดยาว จะถูกหุ้มด้วย เยื่อไมอีลิน (myelin sheath) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเซลล์ชวันน์ (schwann cell) บริเวณรอยต่อของเยื่อไมอีลิน เป็นส่วนที่คอดเว้า เรียกว่า โนด ออฟ แรนเวียร์ ( node of ranvier ) การเคลื่อนของกระแสประสาทไปบนแอกซอนที่มีเยื่อไมอีลินหุ้ม จะกระโดดเป็นช่วงๆ (saltatory conduction) ระหว่างโนดออฟแรนเวียร์ที่อยู่ติดต่อกัน ทำให้นำกระแสประสาทได้เร็วมาก

ชนิดของเซลล์ประสาท
เซลล์ประสาทแบ่งตามลักษณะรูปร่าง ออกได้ 3 ประเภท คือ
1.เซลล์ประสาทขั้วเดียว( Unipolar neuron ) มีใยประสาทออกจากตัวเซลล์เพียงเส้นเดียวแล้วแยกออกเป็น 2 กิ่ง กิ่งหนึ่งเป็นเดนไดรต์ อีกกิ่งหนึ่งเป็นแอกซอน
2.เซลล์ประสาทชนิดสองขั้ว(Bipolar neuron) มีใยประสาทออกจากตัวเซลล์ 2เส้นยาวเท่าๆ กัน หรือใกล้เคียงกัน เส้นหนึ่งเป็นเดนไดรต์ อีกเส้นหนึ่งเป็นแอกซอน

3.เซลล์ประสาทหลายขั้ว( Multipolar neuron ) มีใยออกจากตัวเซลล์หลายเส้น ประกอบด้วยเดนไดรต์แตกแขนงสั้น ๆ มากมาย และแอกซอนยาวเพียงเส้นเดียว
เซลล์ประสาทแบ่งตามหน้าที่ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
1.เซลล์ประสาทรับความรู้สึก (Sensory neuron) เป็นเซลล์ประสาทขั้วเดียว หรือสองขั้วทำหน้าที่รับกระแสความรู้สึกเข้าสู่เซลล์ในสมองและไขสันหลัง
2.เซลล์ประสาทประสานงาน (Association neuron ) เป็นเซลล์ประสาทหลายขั้ว ทำหน้าที่เชื่อมโยงกระแสประสาทจากเซลล์ประสาทรับความรู้สึกและเซลล์ประสาทนำคำสั่งพบอยู่ในระบบประสาทส่วนกลาง
3.เซลล์ประสาทนำคำสั่ง (Motor neuron) เป็นเซลล์ประสาทหลายขั้วทำหน้าที่นำกระแสประสาทจากเซลล์ในสมองหรือไขสันหลังไปยังหน่วยปฏิบัติการ

ไซแนปส์ (Synapse)
เซลล์ประสาทไม่ได้อยู่เดี่ยวๆ แต่จะสานต่อกันเป็นเครือข่าย ปลายแอกซอนของเซลล์ประสาท อาจแตกออกเป็นกิ่งก้านหลายอัน แล้วไปอยู่ชิดกับตัวเซลล์ประสาทหรือส่วนของ เดนไดรต์ของเซลล์ประสาทอื่นหรือเซลล์กล้ามเนื้อหรือหน่วยปฏิบัติงาน เพื่อถ่ายทอดกระแสประสาท บริเวณที่อยู่ชิดกันนั้นเรียกว่า ไซแนปส์ (synapse)
หน้าที่ของไซแนปส์
1.ทำให้คำสั่งหรือกระแสประสาทเดินทางถ่ายทอดเป็นทางเดียวเท่านั้นช่วยให้ระบบประสาทแผ่กระแสประสาทไปยังส่วนรับคำสั่งได้อย่างเรียบร้อยไม่ยุ่งเหยิงสับสน
2.ทำหน้าที่ขยายสัญญาณ (amplifying action) โดยมีการรวมกัน (summation) หรือกระจายกระแสประสาทออก ทำให้คำสั่งนั้นแผ่กระจายกว้างขวางมากขึ้น
3.ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงาน (intregative action) ของคำสั่งต่างๆมีทั้งการเร่ง
        การทำงาน ให้มากขึ้น หรือรั้งการทำงานให้ช้าลง ทำให้อวัยวะตอบสนองทำงานได้อย่างแน่นอนและเป็นไปด้วยความเรียบร้อย





ระบบประสาทส่วนกลาง  
ระบบประสาทกลาง หรือ ระบบประสาทส่วนกลาง หรือ ซีเอ็นเอส (central nervous system; ตัวย่อ: CNS) เป็นโครงสร้างที่ใหญ่ที่สุดของระบบประสาทประกอบด้วยสมองและไขสันหลัง ทำหน้าที่ร่วมกับระบบประสาทนอกส่วนกลาง (peripheral nervous system)ในการควบคุมพฤติกรรม โครงสร้างของระบบประสาทกลางจะอยู่ภายในช่องลำตัวด้านหลัง (dorsal cavity) สมองอยู่ในช่องลำตัวด้านศีรษะ (cranial cavity)และไขสันหลังอยู่ในช่องไขสันหลัง (spinal cavity) โครงสร้างเหล่านี้ถูกปกคลุมด้วยเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลัง (meninges) สมองยังถูกปกคลุมด้วยกะโหลกศรีษะและไขสันหลังยังมีกระดูกสันหลังช่วยป้องกันการกระทบกระเทือน


สมอง
สมอง (Brain) คืออวัยวะสำคัญในสัตว์หลายชนิดตามลักษณะทางกายวิภาค หรือที่เรียกว่า encephalon จัดว่าเป็นส่วนกลางของระบบประสาท สมองมีหน้าที่ควบคุมและสั่งการการเคลื่อนไหวพฤติกรรม และรักษาสมดุลภายในร่างกาย เช่น การเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต สมดุลของเหลงในร่างกาย และอุณหภูมิ เป็นต้น หน้าที่ของสมองยังเกี่ยวข้องกับการรู้ ความจำ การเรียนรู้การเคลื่อนไหว และความสามารถอื่นๆที่เกี่ยวกับการเรียนรู้
ส่วนประกอบ สมองของมนุษย์ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ส่วนดังนี้
1.สมองส่วนหน้า (Forebrain)   มีขนาดใหญ่ที่สุด มีรอยหยักเป็นจำนวนมาก สามารถแบ่งออกได้อีก ดังนี้ ออลเฟกทอรีบัลบ์ (olfactory bulb) – อยู่ด้านหน้าสุด ทำหน้าที่ดมกลิ่น (ปลา,กบ และสัตว์เลื้อยคลานสมองส่วนนี้จะมีขนาดใหญ่) ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมออลแฟกทอรีบัลบ์จะไม่เจริญ แต่จะดมกลิ่นได้ดีโดยอาศัยเยื่อบุในโพรงจมูก สมองส่วนหน้าประกอบด้วย
1.1ซีรีบรัม (Cerebrum) – มีขนาดใหญ่สุด มีรอยหยักเป็นจำนวนมาก ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ ความสามารถต่างๆ เป็นศูนย์การทำงานของกล้ามเนื้อ การพูด การมองเห็น การดมกลิ่น การชิมรส แบ่งเป็นสองซีก แต่ละซีกเรียกว่า Cerebral hemisphere และแต่ละซีกจะแบ่งได้เป็น 4 พูดังนี้
– Frontal lobe ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหว การออกเสียง ความคิด ความจำ สติปัญญา บุคลิก -ความรู้สึก พื้นอารมณ์
– Temporal lobe ทำหน้าที่ควบคุมการได้ยิน การดมกลิ่น
– Occipital lobe ทำหน้าที่ควบคุมการมองเห็น
– Parietal lobe ทำหน้าที่ควบคุมความรู้สึกด้านการสัมผัส การพูด การรับรส
1.2ทาลามัส (Thalamus) – อยู่เหนือไฮโปทาลามัส ทำหน้าที่เป็นสถานีถ่ายทอดกระแสประสาทเพื่อส่งไปจุดต่างๆในสมอง รับรู้และตอบสนองความรู้สึกเจ็บปวด ทำให้มีการสั่งการแสดงออกพฤติกรรมด้านความเจ็บปวด
1.3ไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) – ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของระบบประสาทอัติโนมัติ และสร้างฮอร์โมนเพื่อควบคุมการผลิตฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองและยังเกี่ยวกับการควบคุมอุณหภูมิร่างกาย อารมณ์ ความรู้สึก วงจรการตื่นและการหลับ การหิว และการอิ่ม
2.สมองส่วนกลาง (Midbrain) เป็นสมองที่ต่อจากสมองส่วนหน้า เป็นสถานีรับส่งประสาท ระหว่างสมองส่วนหน้ากับส่วนท้ายและส่วนหน้ากับนัยน์ตาทำหน้าที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของลูกตาและม่านตาจะเจริญดีในสัตว์พวกปลา กบ ฯลฯ ในมนุษย์สมองส่วน obtic lobe นี้จะเจริญไปเป็น Corpora quadrigermia ทำหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยิน
3.สมองส่วนท้าย (Hindbrain)  ประกอบด้วย
3.1พอนส์ (Pons) – อยู่ด้านหน้าของซีรีเบลลัม ติดกับสมองส่วนกลาง ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานบางอย่างของร่างกาย เช่น การเคี้ยวอาหาร การหลั่งน้ำลาย การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า การหายใจ การฟัง
3.2เมดัลลา (Medulla) – เป็นสมองส่วนท้ายสุด เป็นศูนย์กลางการควบคุมการทำงานเหนืออำนาจจิตใจ เช่น ไอ จาม สะอึก หายใจ การเต้นของหัวใจ เป็นต้น
3.3ซีรีเบลลัม (Cerebellum) – อยู่ใต้เซรีบรัม ควบคุมระบบกล้ามเนื้อให้สัมพันธ์กันและควบคุมการทรงตัวของร่างกาย

ไขสันหลัง
ไขสันหลัง (spinal cord) คืออวัยวะที่มีลักษณะเป็นท่อยาวผอม ซึ่งมีเนื้อเยื่อประสาทเป็นส่วนประกอบสำคัญ อันได้แก่ เซลล์ประสาท (neuron) และ เซลล์เกลีย (glia) หรือเซลล์ที่ช่วยค้ำจุนเซลล์ประสาท ซึ่งไขสันหลังจะเป็นส่วนที่ยาวต่อลงมาจากสมอง (brain)สมองและไขสันหลังจะรวมกันเป็นระบบประสาทส่วนกลาง (central
nervous system)หน้าที่หลักของไขสันหลังคือการถ่ายทอดกระแสประสาท (neural signals) ระหว่างสมองและส่วนต่างๆของร่างกาย ทั้งนี้เพียงตัวไขสันหลังเอง ยังสามารถควบคุมการเกิดรีเฟลกซ์ (reflex) เช่นการยกขาทันทีเมื่อเผลอเหยียบตะปู และศูนย์สร้างรูปแบบการเคลื่อนไหวกลาง (central pattern generator)



ระบบประสาทส่วนปลาย
          ระบบประสาทปลายเป็นระบบประสาทซึ่งเชื่อมต่อจากส่วนต่างๆของสมองและไขสันหลังไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย  ประกอบขึ้นด้วย
1.ประสาทสมอง (Cranial nerve)  มี 12 คู่ ทอดออกมาจากพื้นล่างของสมองผ่านรูต่างๆที่พื้นของกะโหลกศีรษะ ประสาทสมองบางคู่จะทำหน้าที่รับความรู้สึก (Sensory nerve) บางคู่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว (Motor nerve) บางคู่จะทำหน้าที่ทั้งรับความรู้สึกและทำการเคลื่อนไหว (Mixed nerve)
Cranial nerve ทั้ง 12 คู่นี้ จะมีชื่อตามตำแหน่งที่ตั้งและตามหน้าที่การทำงาน ได้แก่
เส้นประสาทสมองคู่ที่ 1   เส้นประสาทออลแฟกทอรี(olfactory nerve) รับความรู้สึกเกี่ยวกับกลิ่นจากเยื่อจมูกเข้าสู่ออลแฟกเทอรีบัลบ์(olfactory bulb) แล้วเข้าสู่ออลแฟเทอรีโลบ(olfactory lobe) ของสมองส่วนซีรีบรัมอีกทีหนึ่ง
เส้นประสาทสมองคู่ที่ 2   เส้นประสาทออพติก(optic nerve) รับความรู้สึกเกี่ยวกับการมองเห็นจากเรตินาของลูกตาเข้าสู่ออพติกโลบ(optic lobe) แล้วส่งไปยังออกซิพิทัลโลบ(occipital lobe) ของซีรีบรัมอีกทีหนึ่ง
เส้นประสาทสมองคู่ที่ 3   เส้นประสาทออคิวโลมอเตอร์(oculomotor nerve) เป็นเส้นประสาทสั่งการจากสมองส่วนกลางไปยังกล้ามเนื้อลูกตา 4 มัด ทำให้ลูกตาเคลื่อนไหวกลอกตาไปมาได้ และยังไปเลี้ยงกล้ามเนื้อที่ทำให้ลืมตา ทำให้ม่านตาหรี่หรือขยายและไปยังกล้ามเนื้อปรับเลนส์ตาอีกด้วย
เส้นประสาทสมองคู่ที่ 4   เส้นประสาททรอเคลีย(trochlea nerve) เป็นเส้นประสาทสั่งการไปยังกล้ามเนื้อลูกตาทำให้ลูกตามองลงและมองไปทางหางตา
เส้นประสาทสมองคู่ที่ 5   เส้นประสาทไตรเจอมินัล(trigerminal nerve) แบ่งออกเป็น 3 แขนง ทำหน้าที่รับความรู้สึกจากใบหน้า ลิ้นฟัน ปากเหงือก กลับเข้าสู่สมองส่วนพาเรียทัลโลบ ทำหน้าที่สั่งการไปควบคุมกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการเคี้ยวอาหาร
เส้นประสาทสมองคู่ที่ 6   เส้นประสทแอบดิวเซนส์(abducens nerve) เป็นเส้นประสาทสั่งการออกจากพอนส์ไปยังกล้ามเนื้อลูกตาทำให้เกิดการชำเลือง
เส้นประสาทสมองคู่ที่ 7   เส้นประสาทเฟเชียล(facial nerve) เป็นเส้นประสาทที่สั่งการไปยังกล้ามเนื้อหน้าทำให้เกิดสีหน้าต่างๆกัน และยังเป็นเส้นประสาทรับความรู้สึกรับรสจากปลายลิ้นเข้าสู่ซีรีบรัมส่วนพาเรียทัลโลบด้วย
เส้นประสาทสมองคู่ที่ 8  เส้นประสาทออดิทอรี(auditoty nerve) เส้นประสาทรับความรู้สึกแยกเป็น 2 แขนง แขนงหนึ่งจากคอเคลียของหูทำหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยินเข้าสู่ซีรีบรัมส่วนเทมพอรัลโลบอีกแขนงหนึ่งนำความรู้สึกเกี่ยวกับการทรงตัวจากเซมิเซอร์คิวลาร์แคแนล เข้าสู่ซีรีบรัม
เส้นประสาทสมองคู่ที่ 9   เส้นประสาทกลอสโซฟารินเจียล(glossopharyngeal nerve) เป็นประสาทรับความรู้สึกจากช่องคอ เช่น ร้อน เย็น และรับรสจากโคนลิ้นเข้าสู่ซีรีบรัม ส่วนพาเรียทัลโลบและนำกระแสประสาทสั่งการจากสมองไปยังกล้ามเนื้อบริเวณคอหอยที่เกี่ยวกับการกลืน และต่อมน้ำลายให้หูให้หลั่งน้ำลาย
เส้นประสาทสมองคู่ที่ 10   เส้นประสาทเวกัส(vegus nerve) เป็นเส้นประสาทรับความรู้สึกจากลำคอ กล่องเสียง ช่องอก ช่องท้อง ส่วนเล้นประสาทสั่งการจะออกจากเมดัลลาออบลองกาตา ไปยังกล้ามเนื้อลำคอ กล่องเสียง อวัยวะภายในช่องปาก และช่องท้อง
เส้นประสาทสมองคู่ที่ 11   เส้นประสาทแอกเซสซอรี(accessory nerve) เป็นเส้นประสาทสั่งการจากเมดัลลาออบลองกาตาและไขสันหลังไปยังกล้ามเนื้อคอ ช่วยในการเอียงคอและยกไหล่
เส้นประสาทสมองคู่ที่ 12  เส้นประสาทไฮโพกลอสวัล(hypoglossal nerve) เป็นเส้นประสาทสั่งการไปยังกล้ามเนื้อลิ้นทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของลิ้น
2.ประสาทไขสันหลัง   เส้นประสาทที่แยกออกจากไขสันหลังมีทั้งหมด 31 คู่ เป็นเส้นประสาทประสม(mixed never)แบ่งออกเป็นทั้งหมด5บริเวณดังนี้
เส้นประสาทบริเวณคอ (cervical never) 8 คู่ เส้นประสาทบริเวณอก (thoracal never) 12 คู่ เส้นประสาทบริเวณเอว (lumbar never) 5คู่ เส้นประสาทบริเวณกระเบนเหน็บ (sacral never) 5 คู่ เส้นประสาทบริเวณก้นกบ (coccygeal never) 1 คู่



ระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic Nervous System) 
          เป็นระบบประสาทที่ประกอบไปด้วยเซลล์ประสาทจำนวนมาก แต่เซลล์ประสาทเหล่านี้จะทำงานเป็นอิสระไม่อยู่ภายใต้อำนาจจิตใจ(involuntary) หรือการควบคุมของระบบประสาทส่วนกลาง ดังนั้นการทำงานของเซลล์ประสาทอัตโนมัติจึงทำงานได้โดยไม่ต้องอาศัยคำสั่งจากสมอง เส้นประสาทจากระบบประสาทอัตโนมัติจะกระจายอยู่ตามบริเวณกล้ามเนื้อเรียบของอวัยวะภายในทุกชนิด รวมทั้งต่อมต่าง ๆ ทั้งหลายในร่างกายอีกด้วย 
ระบบประสาทอัตโนมัติแบ่งได้เป็น  2  ระบบย่อย คือ 
1)  ระบบประสาทซิมพาเธติก (Sympathetic nervous System)
         ศูนย์กลางอยู่บริเวณไขสันหลัง (Spinal cord) ประกอบด้วยเส้นประสาทที่ออกจากบริเวณไขสันหลังตั้งแต่อกจนถึงเอว  ระบบนี้จะทำงานในกรณีที่บุคคลตกอยู่ในสภาวะฉุกเฉิน ร่างกายจะเกิดปฏิกิริยาตื่นตัวเพื่อเตรียมพร้อมที่จะสู้หรือหนีจากสถานการณ์เหล่านั้น ปฏิกิริยาของร่างกายที่เกิดขึ้นเมื่อระบบประสาทซิมพาเธติกทำงาน  ได้แก่  ขนลุกตั้งชัน  ชีพจรเต้นเร็วกว่าปกติ  เหงื่อออกมาก   ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น  หัวใจเต้นเร็วและรัว  ต่อมอะดรีนัล (adrenal gland) หรือต่อมหมวกไตจะหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลีน (adrenalin) เพื่อเพิ่มพลังงานพิเศษให้กับร่างกาย  เป็นต้น
2)  ระบบประสาทพาราซิมพาเธติก (parasympathetic nervous system)        มีศูนย์กลางอยู่ที่ก้านสมอง (medulla) และไฮโปทาลามัส (hypothalamus) โดยระบบนี้จะทำงานควบคู่กับระบบซิมพาเธติก  กล่าวคือ  เมื่อระบบซิมพาเธติกทำงานสิ้นสุดลง ร่างกายพ้นจากสภาวะฉุกเฉินไปแล้ว  ระบบพาราซิมพาเธติกจะช่วยทำให้ร่างกายกลับคืนสู่สภาวะปกติ  เช่น  เส้นขนจะราบลง  ชีพจรหัวใจและความดันโลหิตจะกลับคืนสภาพเดิม  เป็นต้น นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้ต่อมอะดรีนัลหลั่งฮอร์โมนนอร์อะดีนาลีน (noradrenalin) เพื่อช่วยให้ร่างกายกลับสู่ภาวะปกติอีกครั้ง


ระบบสืบพันธุ์ 


ระบบสืบพันธุ์เพศหญิง 
        เป็นระบบที่ทำหน้าที่คล้ายกับระบบสืบพันธุ์เพศชาย ซึ่งนอกจากสร้างเซลล์สืบพันธุ์คือเซลล์ไข่และสร้าง hormone เพศหญิงแล้ว   ยังทำหน้าที่ดูแลฟูมพักให้เซลล์ไข่ที่ผสมติดให้พัฒนากลายเป็นตัวอ่อนจนคลอดออกมา   ระบบสืบพันธุ์เพศหญิงประกอบ ด้วย

       อวัยวะเพศภายนอก ( external genitalia) เป็นอวัยวะที่มองเห็นได้จาก ภายนอก อาจจะเรียกว่า vulva หรือ pudendumซึ่งได้แก่ เนินหัวเหน่า แคมใหญ่ แคมเล็ก clitoris, vestibule, Bartholin’s gland , paraurethral gland และบริเวณฝีเย็บ

1.เนินหัวเหน่า (
 mone pubis)เป็นผิวหนังนูนอยู่บริเวณเหนือกระดูกหัวเหน่า ( pubic symphysis) เมื่อเข้าสู่วัยสาวจะมีขนงอกขึ้นที่บริเวณนี้ สำหรับในเพศหญิงแนวขนจะเรียงตัวเป็นรูปสามเหลี่ยมมียอดชี้ลงมาทางด้านล่าง
2.แคมใหญ่ (
 labiamajora) เป็นผิวหนังที่ต่อมาจากทางด้านล่างของเนินหัวเหน่า  มีลักษณะนูนแยกเป็น 2 กลีบลงไปบรรจบกันทางด้านหลังที่บริเวณฝีเย็บ
3.แคมเล็ก (
 labia minora)เป็นชั้นผิวหนังที่ยกตัวขึ้นเป็นกลีบเล็กๆ สีแดง 2 กลีบ ทางด้านในของแคมใหญ่   กลีบของแคมเล็กทางด้านหน้าจะแยกออกเป็น 2 แฉก แฉกด้านบนมาจรดกันกลายเป็นผิวหนังคลุม clitoris เรียกว่า     ” prepuce of clitoris”   แฉกด้านล่างจรดกันใต้clitoris เรียกว่า ” frenulum of clitoris “    ส่วนปลายหลังของแคมเล็กจะโอบรอบรูเปิดของช่องคลอดและท่อปัสสาวะแล้วมาจรดกันด้านหลังเรียกว่า ” fourchette “  แคมเล็กไม่มีขนงอก
4.
clitoris    มีลักษณะเป็นตุ่มเล็กๆ มีโครงสร้างเป็น erectile tissue เช่นกันมีหลอดเลือดและปลายประสาทรับความรู้สึกมาเลี้ยงเป็นจำนวนมาก   ดังนั้นหากเกิดการฉีกขาดที่บริเวณนี้ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในขณะคลอดจะทำให้เจ็บ   เสียเลือดมากและเย็บติดได้ยาก
5.
vestibule  เป็นบริเวณที่อยู่ระหว่างแคมเล็กทั้งสองข้าง ตั้งแต่ clitoris ลงไปจนถึง fourchette บริเวณนี้มีรูเปิดของท่อต่างๆ ดังนี้
 รูเปิดของท่อปัสสาวะ ( urethral orifice) จะอยู่ถัดจาก clitoris ราว 1 ซม.
 รูเปิดของช่องคลอด ( vaginal orifice) อยู่ถัดไปอีก มีเยื่อพรหมจารีย์ปิดอยู่
 รูเปิดของ Bartholin’s gland และ paraurethral gland อย่างละ 1 คู่
6.
Bartholin’s gland (greater vestibular gland)  เป็นต่อมเล็กๆ ขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียวพบอยู่ 2 ข้างของรูเปิดของช่องคลอด  จะให้ท่อออกมาเปิดที่บริเวณระหว่างเยื่อพรหมจารีย์กับแคมเล็ก   ทำหน้าที่สร้างเมือกหล่อลื่นและมีฤทธิ์เป็นด่าง   เพื่อลดความเป็นกรดในช่องคลอด
7.เยื่อพรหมจารีย์ (
 hymen) เป็นเนื้อเยื่อที่ยื่นออกมาปิดรูเปิดของช่องคลอด ตรงกลางจะมีรูเปิดเล็กๆ เยื่อพรหมจารีย์นี้สามารถยืดหยุ่นได้    ในเด็กบางคนเยื่อพรหมจารีย์ไม่มีรูเปิดจึงปิดช่องคลอดไว้หมด ทำให้เลือดประจำเดือนไม่สามารถไหลออกมาได้ เรียก” imperferated hymen “
8.ฝีเย็บ(
 perineum) เป็นบริเวณรูปสี่เหลี่ย ( diamond-shape)โดยลากเส้นเชื่อมต่อจากกระดูกหัวเหน่าไปยัง  ischial  tuberosity  2  ข้างและกระดูกก้นกบ    แต่ถ้าลากเส้นตรงเชื่อมต่อระหว่าง ischial tuberosity ทั้ง 2 ข้างจะแบ่งฝีเย็บออกเป็นบริเวณรูปสามเหลี่ยม 2 รูปคือด้านหน้าเรียก urogenital  triangle เป็นที่ตั้งของอวัยวะเพศภายนอกทั้งหมด  และด้านหลังเรียกว่า ” anal triangle “จะพบรูเปิดของทวารหนักอยู่บริเวณที่อยู่ระหว่างช่องคลอดกับทวารหนัก    จะมีก้อนเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่เหนียวและแข็งแรงอยู่ข้างในเรียกว่า” perineal body “    ซึ่งมีความสำคัญเป็นจุดยึดเกาะของกล้ามเนื้อลายหลายมัด    ที่ทำหน้าที่รองรับอวัยวะต่างๆ ที่อยู่ภายในอุ้งเชิงกรานไม่ให้เคลื่อนออกมา ฝีเย็บมักจะฉีกขาดขณะที่ทำการคลอด   ถ้าหากไม่มีการเย็บซ่อม ก็อาจจะทำให้อวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานโดยเฉพาะมดลูกเคลื่อนที่ออกมาทางช่องคลอด    ดังนั้นการป้องกันไม่ให้ฝีเย็บฉีกขาดขณะทำคลอดจะต้องตัดบริเวณฝีเย็บ เรียกว่า ” episiotomy “ เพื่อเปิดช่องคลอดให้กว้างขึ้นจะได้คลอดสะดวก   เมื่อทารกคลอดออกมาแล้วค่อยทำการเย็บปิดกลับตามเดิม

อวัยวะสืบพันธุ์ภายใน
 
1.ช่องคลอด(
Vaginal Canal)  ช่องคลอด เป็นช่องอวัยวะภายในที่ตั้งอยู่ระหว่างช่องปัสสาวะกับช่องทวารหนัก ยาวประมาณ 7 8 เซนติเมตร  เป็นช่องสำหรับผ่านของตัวอสุจิเพื่อเข้าไปปฏิสนธิกับไข่บริเวณปีกมดลูกหรือท่อนำไข่ รวมถึงเป็นทางออกของทารกในขณะคลอด ผนังภายในของช่องคลอดเป็นเยื่อเกือบติดกัน และสามารถแยกออกจากกันได้ สามารถยืดหดได้มาก และบริเวณปากช่องคลอดมีต่อมขนาดเล็กทำหน้าที่ขับน้ำเมือกมาเลี้ยงช่องคลอด เรียกว่า ต่อมบาร์โทลิน (Bartholin Grand)    ในภาวะปกติ ช่องคลอดจะมีมีสภาพเป็นกรดที่มาจากการเปลี่ยนไกลโคเจนให้เป็นกรดแลกติก (Lactic Acid)แบคทีเรียชนิดหนึ่ง จึงเป็นสภาวะที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อจุลินทรีย์ได้ และที่ปากช่องคลอดเยื่อบางๆ เรียกว่า เยื่อพรหมจารี (Hymen) ปกคลุมอยู่ เยื่อนี้ จะขาดไปเมื่อมีเพศสัมพันธุ์ครั้งแรกหรือกรณีอื่นๆ เช่น การเล่นกีฬา การทำงานหนักที่ทำให้เกิดการฉีกขาดของเยื่อพรหมจารี แต่ในบางคนอาจจะขาดมาแล้วตั้งแต่กำเนิด

2.มดลูก(
Uterus) มดลูกเป็นอวัยวะสืบพันธ์เพศหญิงที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีรูปร่างลักษณะคล้ายผลชมพู่ ตั้งอยู่ในอุ้งเชิงกราน และอยู่ระหว่างกระเพาะปัสสาวะซึ่งอยู่ด้านหน้า และทวารหนักซึ่งอยู่ด้านหลัง มีส่วนที่ติดต่อกับช่องคลอดทีเป็นปากมดลูก เรียกว่า เซอวิก (Cervix) ภายในมดลูกมีลักษณะเป็นโพรงแคบๆ มีเยื่อบุโพรงมดลูกที่เป็นกล้ามเนื้อหนา และมีความแข็งแรง มีเส้นเลือดมาเลี้ยงจำนวนมาก และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดทุกรอบเดือนจากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศเอสโตรเจน และโปรเจสเตอร์โรน เยื่อผนังมดลูกจะหลุดลอกขณะมีประจำเดือน แต่เมื่อตั้งครรภ์จะขยายตัวใหญ่เป็นที่ฝังตัวของไข่ที่ปฏิสนธิจากเชื้ออสุจิแล้ว และค่อยๆเจริญเติบโตเป็นทารกในครรภ์ หลังการคลอดผนังมดลูกจะกลับคืนสู่สภาพเดิมภายใน 45 วัน
หน้าที่ของมดลูก
 การมีประจำเดือน ที่เกิดจากการหลุดลอกของเยื่อบุมดลูก ภายหลังที่ไม่มีไข่มาฝั่งตัว ซึ่งจะมีการฉีกขาดของเส้นเลือด ทำให้เลือดไหลออก หรือที่เรียกทั่วไปว่า การเป็นประจำเดือน
 การตั้งครรภ์ เป็นที่ฝังของไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว และพัฒนาเป็นตัวอ่อนจนกระทั้งเจริญเติบโตเป็นทารก
 การคลอด อันมาจากการครบกำหนดของการเติบโตของทารกในครรภ์ ขณะคลอดผนังมดลูกจะมีการหดตัวเป็นระยะๆ เพื่อให้ทารกคลื่นออกผ่านมาถึงช่องคลอด

3.รังไข่(
Ovary) รังไข่ เป็นอวัยวะขนาดเล็ก สีขาวมัน มีรูปร่างคล้ายเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ขนาดเท่าเมล็ดมะปราง มี 2 อัน อยู่บริเวณปีกมดลูกซ้าย-ขวา ทั้งสองข้าง เชื่อมติดกับมดลูกด้วยปีกมดลูกหรือท่อนำไข่
หน้าที่ของรังไข่
 สร้างเซลล์สืบพันธ์ ได้แก่ เซลล์ไข่ (Ovum)
 สร้างฮอร์โมนเพศ ได้แก่ ฮอร์โมนเอสโตรเจน โปรเจสเตอร์โรน และแอนโดรเจน แต่ที่สำคัญมาก     สำหรับเพศหญิง คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ทำหน้าที่กระตุ้นให้ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงทางอวัยวะสืบพันธุ์ให้เจริญเติบโต รวมถึงพัฒนาลักษณะของเพศหญิงให้เด่นชัดขึ้น เช่น การเกิดเต้านมโต การมีขนที่อวัยวะสืบพันธุ์ และเสียง เป็นต้น
       เซลล์ไข่ (Ovum) หรือไข่ของเพศหญิงจะสุก และเคลื่อนออกมาที่ท่อนำไข่ ที่เรียกว่า การตกไข่ เดือนละ 1 ใบ โดยสุกสลับกันจากรังไข่แต่ละข้าง แต่ในบางครั้ง อาจพบการเจริญ และสุกของไข่เกิดขึ้นพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง และหากมีการปฏิสนธิพร้อมกันก็จะเกิดเป็นตัวอ่อนทั้ง 2 ฟอง หรือที่เรียกว่า การตั้งครรภ์แฝด
รังไข่จะมีไข่ (
Ovum) ที่ยังไม่เจริญเต็มที่หลายพันฟอง เมื่อเด็กเติบโตเข้าอายุ 12 13 ปี ไข่จะเริ่มสุก เพราะเกิดการกระตุ้นจากฮอร์โมนของต่อมพิทูอิตารี (Pituitary grand) ไข่ที่สุกแล้วจะตกจากรังไข่เดือนละ 1 ใบ ของแต่ละข้างสลับกัน และจะเคลื่อนเข้าสู่ท่อนำไข่ และหากมีการปฏิสนธิจากตัวอสุจิก็เข้าฝังตัวในเยื่อบุมดลูก ซึ่งขณะที่ไข่เคลื่อนผ่านท่อนำไข่ ต่อมรังไข่จะสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุมดลูกเพื่อเตรียมการฝังตัวของไข่

รังไข่ จะเสื่อมสภาพ และฝ่อไป เมื่อผู้หญิงมีอายุประมาณ
 50 ปี ทำให้เพศหญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนหรือบางครั้ง เรียกว่า วัยทอง
4.ท่อนำไข่(
Oviduct) หรือปีกมดลูก (Fallopian Tube)  ท่อนำไข่ หรือ ปีกมดลูกเป็นทางเชื่อมต่อระหว่างรังไข่ทั้งสองข้างกับมดลูก ทำหน้าที่เป็นทางผ่านของไข่ที่ออกจากรังไข่เข้าสู่มดลูก ท่อนำไข่เป็นบริเวณที่อสุจิจะเข้าปฏิสนธิกับไข่
การตกไข่

การตกไข่  หมายถึง  การที่ไข่สุกและออกจากรังไข่เข้าสู่ท่อนำไข่ โดยปกติรังไข่แต่ละข้างจะสลับกันผลิตไข่ในแต่ละเดือน ดังนั้น จึงมีการตกไข่เกิดขึ้นเดือนละ 1 ใบ ในช่วงกึ่งกลางของรอบเดือน เมื่อมีการตกไข่ มดลูกจะมีการเปลี่ยนแปลงโดยมีผนังหนาขึ้นทั้งมีเลือดมาหล่อเลี้ยงเป็นจำนวนมาก ซึ่งต่อไปจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใน 2 กรณีต่อไปนี้
1)  ถ้ามีอสุจิเคลื่อนที่เข้ามาในท่อนำไข่ในขณะที่มีการตกไข่ อสุจิจะเข้าปฏิสนธิกับไข่ที่บริเวณท่อนำไข่ด้านที่ใกล้กับรังไข่ ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วจะเคลื่อนตัวเข้าสู่มดลูก เพื่อฝังตัวที่ผนังมดลูกและเจริญเติบโตต่อไป


2)  ถ้าไม่มีตัวอสุจิเข้ามาในท่อนำไข่  ไข่จะสลายตัวก่อนที่จะผ่านมาถึงมดลูก จากนั้นผนังด้านในของมดลูกและเส้นเลือดที่มาหล่อเลี้ยง เป็นจำนวนมากก็จะสลายตัว แล้วไหลออกสู่ภายนอกร่างกายทางช่องคลอด เรียกว่า ประจำเดือน โดยปกติผู้หญิงจะเริ่มมีประจำเดือนเมื่อายุประมาณ 12 ปี ขึ้นไป รอบของการมีประจำเดือนแต่ละเดือนจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยทั่วไปประมาณ 28 วัน และจะมีทุกเดือนไปจนกระทั่งอายุประมาณ 50 – 55 ปี จึงจะหยุดการมีประจำเดือน โดยจะขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของร่างกาย

ระบบสืบพันธุ์เพศชาย


อวัยวะที่สำคัญในระบบสืบพันธุ์เพศชาย(male reproductive system) ประกอบด้วย
คำอธิบาย: 5














1. อัณฑะ (testis) มีลักษณะเป็นก้อนรูปไข่มี 2 อันอยู่ในถุงอัณฑะที่ห้อยอยู่ภายนอกมีหน้าที่ผลิตอสุจิและผลิตฮอร์โมนเพศชาย คือ เทสโทสเทอโรน (testosterone) ซึ่งจะเริ่มทำหน้าที่ในวัยอายุระหว่าง 12-16 ปีฮอร์โมนนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเด็กผู้ชายเข้าสู่ วัยเจริญพันธุ์คือ ตัวใหญ่ ไหล่กว้าง มีหนวดเครา เสียงห้าวขึ้น และมีความต้องการทางเพศภายในอัณฑะจะมีหลอดเล็กๆ ขดไปมาทำหน้าที่สร้างอสุจิ เรียกว่าหลอดสร้างอสุจิ
2. ถุงอัณฑะ (scrotum) อยู่นอกร่างกายทำให้อุณหภูมิเย็นกว่าภายในร่างกายซึ่งเป็นสภาวะที่เหมาะกับการเจริญของอสุจิ
 3. หลอดเก็บอสุจิ (epididymis) อยู่ด้านบนของอัณฑะ ลักษณะเป็นท่อเล็กๆ ทำหน้าที่เก็บอสุจิจนแข็งแรงก็จะส่งไปที่ท่อซึ่งใหญ่กว่าเรียกว่า ท่ออสุจิทำหน้าที่ลำเลียงอสุจิไปเก็บไว้ที่ต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ
4. ต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ (seminal vesicle)ทำหน้าที่หลั่งของเหลวประกอบด้วยอาหารจำพวกน้ำตาล ฟรักโทสและโปรตีนซึ่งทำให้อสุจิมีชีวิตอยู่ได้ เรียกอสุจิกับน้ำเลี้ยงอสุจิว่าน้ำอสุจิ (semen)
5. ต่อมลูกหมาก (prostate gland) อยู่รอบๆ หลอดฉีดอสุจิ สร้างสารที่มีฤทธิ์เป็นเบสอ่อนทำลายฤทธิ์กรดในท่อปัสสาวะของชาย
6. อวัยวะภายนอกเรียกว่า องคชาต (penis) เป็นหลอดกลวงมีท่อปัสสาวะและท่ออสุจิซึ่งเชื่อมต่อกัน เป็นทางผ่านของปัสสาวะและอสุจิแต่น้ำปัสสาวะและน้ำอสุจิจะไม่ออกจากท่อในเวลาเดียวกันมีเยื่อที่แข็งตัวได้เมื่อมีเลือดเข้าไปคั่งอยู่การทำงานจะอยู่ใต้อำนาจของเส้นประสาทที่แยกออกมาจากไขสันหลังบริเวณก้นกบ

ส่วนประกอบของอสุจิ
คำอธิบาย: 6

1.ส่วนหัว(Head) มีลักษณะรูปไข่ ภายในมีนิวเคลียสบรรจุไว้เกือบเต็ม ทางส่วนหน้าสุดของส่วนหัวจะมีลักษณะเป็นถุง เรียกว่า อะโครโมโซม (acrosome) ซึ่งพัฒนามาจาก golgo bodies มีเอนไซม์ซึ่งสามารถย่อยสลายผนังเซลล์ของไข่ เรียกว่า ไฮยาลูโรนิเดส (hyaluronidase) หรือ ไฮโดรไลติก เอนไซม์ (hydrolytic enzyme) หรือ ไลซิน (lysin)
2.ส่วนลำตัว(Midpiece หรือ Middle piece) เป็นส่วนที่ต่อจากส่วนหัว มี mitochondriaจำนวนมากเรียงเป็นเกลียว ทำหน้าที่สร้างพลังงานให้กับสเปิร์ม
3.ส่วนหาง(Tail หรือ Flagellum) เป็นส่วนของหลอดโปรตีน (microtubule)ที่ยื่นออกมาจาก เซนตริโอล มีหน้าที่พัดโบกให้สเปิร์มเคลื่อนที่ไปได้



ระบบต่อมไร้ท่อ
คำอธิบาย: https://3.bp.blogspot.com/-xll1xGJL6bo/WbvdGaPVz6I/AAAAAAAAHMU/lrvDoi-1Khc-5Xrj42xezj_dag0r8EfYgCEwYBhgL/s320/art_41993599.jpg

             ต่อมไร้ท่อ(Endocrine Gland) หมายถึงต่อมที่ไม่มีท่อประกอบด้วยกลุ่มเซลล์ที่สร้างและหลั่งสารเคมีที่เรียกว่า ฮอร์โมน (hormone) แล้วส่งออกนอกตัวเซลล์โดยผ่านทางกระแสเลือดหรือน้ำเหลืองไปควบคุมหรือดัดแปลงสมรรถภาพของเซลล์ของของอวัยวะเป้าหมาย (target organ)  ที่อยู่ไกลออกไป หรืออยู่ใกล้เคียงกัน  มีลักษณะการทำงานค่อนข้าช้า แต่ได้ผลการทำงานที่นาน ซึ่งฮอร์โมนมีความสำคัญต่อร่างกายและมีอิธพลต่อพฤติกรรมของคนเราอโดยฮอร์โมนแต่ล่ะชนิดจะทำงานไปพร้อมๆกันเพื่อรักษาสมดุลของร่างกายให้คงที่อยู่เสมอ หน้าที่สำคัญคือ ควบคุมระบบพลังงานของร่างกาย ควบคุมปริมาณน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย ควบคุมการเจริญเติบโตของร่างกาย ควบคุมระบบสืบพันธุ์และต่อมน้ำนม ถ้าเกิดความผิดปกติของต่อมไร้ท่อที่มีการผลิตฮอร์โมนมากเกินไปหรือน้อยเกินไป จะส่งผลเฉพาะต่ออวัยวะที่ตอบสนองต่อฮอร์โมนนั้นๆ ให้ทำงานผิดปกติไปด้วย ระบบต่อมไร้ท่อจึงถือเป็นระบบสื่อสารภายในร่างกาย ทำหน้าที่ควบคุมเชื่อมโยง ติดต่อประสานกับการทำงานของระบบอื่นๆในร่างกาย ลักษณะการทำงานจะเป็นไปอย่างช้าๆ แต่ให้ผลระยะยาวนาน เช่นการเจริญเติบโตของร่างกาย การผลิตน้ำนม ซึ้งต้องอาศัยเวลาจึงจะแสดงผลให้ปรากฏ
บทบาทหน้าที่ของฮอร์โมน แบ่งออกเป็น 4 ประเภท
1. การสืบพันธุ์ โดยฮอรฺโมนจากระบบสืบพันธุ์ เช่น แอนโดรเจน (androgen) เอสโตรเตน (estrogen) โพรเจสเคอโรน(progesterone) luteinizing hormone  follicle stimulating hormone และ โพรแลกติน ฮอร์โมนเหล่านี้จะช่วยควบคุมการเจริญเติบโต การเปลี่ยนแปลงตามวัยของอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น การสร้างอสุจิ  การตั้งครรภ์ การคลอดเป็นต้น
2. การเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกายทำให้มีการเจนิญเติบโตของเนื้อเยื่อของร่างกายการเจริญเติบโตตามวัย การแก่ชรา ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องคือ Growth hormone, Thyroxin hormone, Insulin
3. การสร้างและการใช้พลังงาน คือ ควบคุมกระบวนการ Metabolism ภายในร่างกายให้มีการใช้พลังงานของเซลล์ของอวัยวะต่างๆ เช่น ควบคุมกระบวนการ Metabolism ของคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน โดยมีฮอร์โมนที่เกี่ยวข้อง คือ อินซูลิน เอพิเนฟริน คอติซอล
4.การรักษาสภาวะภายในร่างกายให้คงที่ เช่นการควบคุมเกลือแร่ และน้ำ เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมภายในร่างกายให้สมดุล ได้แก่ แอลโดสเตอโรน ควบคุมโซเดียม ADH (Antidiuretic hormone) ควบคุมปริมาณน้ำ เป็นต้น
ประเภทและคุณสมบัติของฮอร์โมน
1. Paracrine hormone คือฮอร์โมนที่ออกฤทธิ์โดยการไปกระตุ้นหรือยับยั้งกระบวนการบางอย่างในเซลล์เป้าหมายที่อยู่ข้างเคียง
2. Autocrine hormone คือฮอร์โมนที่ออกฤทธิ์ที่เซลล์ผลิตฮอร์โมนเอง
3. Endocrine hormone คือ ฮอร์โมนที่ออกฤทธิ์ต่อเซลล์เป้าหมายที่อยู่ไกลออกไปจากเซลล์ที่สร้างออร์โมน
4.  Neurocrine hormone คือฮอร์โมนที่สร้างจากเซลล์ประสาท ส่งไปตามเส้นใยประสาทเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือด

การจำแนกต่อมไร้ท่อตามความสำคัญต่อชีวิต
1.2.1) Essential endocrine gland เป็นต่อมไร้ท่อที่จำเป็นมาก ถ้าขาดแล้วทำให้ตายได้ ได้แก่ต่อมดังต่อไปนี้
1.1)ต่อมพาราไทรอยด์ (parathyroid)
1.2) ต่อมหมวกไตชั้นนอก (adrenal cortex)
1.3) ต่อมไอส์เลตของตับอ่อน (islets of Langerhans )
1.2.2 ) Non – Essential endocrine gland เป็นต่อมที่ไม่จำเป็นหรือจำเป็นน้อยมากต่อร่างกาย ได้แก่ต่อม ดังต่อไปนี้
2.1) ต่อมใต้สมอง ( pituitary )
2.2) ต่อมไทรรอยด์ ( thyroid )
2.3) ต่อมหมวกไตชั้นใน ( adrenal medulla )
2.4) ต่อมไพเนียล ( pineal )
2.5) ต่อมไทมัส ( thymus )
2.6) ต่อมเพศ ( gonads )


ที่มา :
https://anatomyfivelife.wordpress.com



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น