ภาษาไทย

ขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฏีกา


ขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฏีกา  

เนื้อเรื่องย่อ เรื่องขุนช้างขุนแผน  ตอน  ขุนช้างถวายฎีกา

            ฝ่ายพลายงาม เมื่อชนะความขุนช้างแล้ว ก็อยู่มาด้วยความสุข แต่มาคิดว่ายังขาดแต่มารดา เห็นว่าไม่ควรคู่กับขุนช้าง แล้วคิดว่าจะรับแม่กลับมาอยู่กับขุนแผน  พอตกค่ำจึงออกเดินทางไปบ้านขุนช้าง สะกดผู้คน ภูตพราย และแก้อาถรรพณ์ แล้วสะเดาะกลอน เข้าไปถึงชั้นสามห้องนอน ถอนสะกดนางวันทอง แล้วเจรจากัน พระไวยแจ้งว่าจะมารับนางวันทองกลับไปบ้าน นางวันทองแนะนำให้นำเรื่องขึ้นกราบทูลพระพันวษา  พลายงามไม่เห็นด้วยและจะพาไปให้ได้ นางวันทองจนใจจึงยอมไปกับพระไวย  ขุนช้างตื่นขึ้นไม่พบนางวันทอง ให้บ่าวไพร่ค้นหาไม่พบ ฝ่ายพลายงามได้คิดว่า ถ้าขุนช้างรู้ว่าลักนางวันทองมา ก็คงจะนำความขึ้นกราบทูลสมเด็จพระพันวษา มารดาก็จะต้องโทษ คิดแล้วจึงให้หมื่นวิเศษผล ไปหาขุนช้างที่บ้าน ช่วยไกล่เกลี่ยเรื่องราว อย่าให้ขุนช้างโกรธ ด้วยเป็นคนที่เคยชอบพอกัน โดยให้บอกขุนช้างว่า ตนจับไข้อยู่หลายวัน เกรงว่าแม่ไม่ทันจะเห็นหน้า จึงให้คนไปพาแม่มา พอให้ตนหายไข้แล้ว จะส่งมารดาคืนกลับไป    หมื่นวิเศษรับคำแล้วก็รีบไปบ้านขุนช้าง แจ้งเรื่องตามที่พระไวยสั่งมาทุกประการ ขุนช้างได้ฟังก็ทั้งโกรธและแค้น เมื่อข่มความโกรธแล้วก็ตอบไปว่า ไม่เป็นไรเรื่องการเจ็บไข้ ถ้าขัดสนสิ่งไรก็ขอให้มาเอาที่ตนได้ ว่าแล้วก็ปิดหน้าต่างใส่ ด้วยความเดือดดาลและแค้นใจ
            ฝ่ายขุนช้างร่างฟ้องเสร็จแล้ว ก็มาที่วังใน รออยู่ที่ใต้ตำหนักน้ำ พอสมเด็จพระพันวษาเสด็จกลับวังทางเรือตอนจวนค่ำ ขุนช้างก็ลงลอยคอเข้าถวายฎีกา  สมเด็จพระพันวษาเห็นเข้า ก็ทรงพระพิโรธ ให้รับฎีกาไว้ แล้วเอาตัวไปเฆี่ยนสามสิบที จากนั้นให้ตั้งกฤษฎีกาว่า ตั้งแต่นี้ไป ถ้าใครปล่อยให้ใครเข้ามาในล้อมวง ต้องระวางโทษเจ็ดสถาน ถึงประหารชีวิต
ฝ่ายขุนแผนได้อยู่กับนางแก้วกิริยา และนางลาวทองมาด้วยความผาสุข ตกกลางคืนคิดถึงนางวันทอง จึงออกเดินมาที่ห้องนางวันทอง ที่เรือนพระไวย ปลุกนางขึ้นมาสนทนาด้วย ได้พร่ำรำพันถึงความหลัง ที่ตกทุกข์ได้ยากด้วยกันมา นางวันทองแนะนำขุนแผน ให้นำความขึ้นเพ็ดทูลพระพันวษา และไม่ยอมตกเป็นของขุนแผน พอตกดึกก็ฝันไปว่า ถูกพยัคฆ์ตะครุบ คาบตัวไปในป่า ตกใจตื่น แก้ฝันให้ขุนแผนฟัง ขุนแผนได้ฟังก็ใจหาย รู้ว่าฝันร้ายมีอันตราย        วันรุ่งขึ้น สมเด็จพระพันวษาเสด็จออกว่าราชการ เห็นขุนช้างเข้าเฝ้าอยู่ จึงตรัสว่า เรื่องนางวันทองไม่รู้จบ เมื่อครั้งก่อน เรื่องตกหนักที่นางศรีประจัน ก็ตัดสินไปอยู่กับขุนแผน แต่ทำไมกลับมาอยู่กับขุนช้าง แล้วให้หมื่นศรีไปเอาตัวนางวันทอง ขุนแผนและพระไวยมาเฝ้า ทั้งสามคนได้ฟังความก็ตกใจ ขุนแผนจึงจัดการช่วยเหลือนางวันทองด้วยเวทมนตร์ แล้วจึงพากันไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระพันวษาจึงตรัสถามนางวันทอง ถึงเรื่องราวแต่หนหลัง นางวันทองก็กราบทูลให้ทรงทราบ เมื่อทรงทราบแล้ว ก็กริ้วขุนช้างเป็นกำลัง แล้วตรัสถามนางวันทองต่อไปว่า เวลาล่วงไปแล้วถึงสิบแปดปี แต่ทำไมวันนี้จึงมาได้ นางวันทองก็กราบทูลว่า พระไวยไปรับเมื่อตอนกลางคืน สมเด็จพระพันวษาได้ฟัง ก็ทรงขุ่นเคืองพระไวย ที่ทำตามอำเภอใจเพราะแย่งชิงนางวันทองกัน จึงให้นางวันทองตัดสินใจว่า จะอยู่กับใคร หรือถ้าไม่อยากอยู่กับทั้งสองคน จะเลือกอยู่กับลูกก็ได้ นางวันทองเมื่อถึงคราวจะสิ้นอายุ ไม่สามารถตัดสินใจได้ จึงกราบทูลเป็นกลางไป หวังจะให้สมเด็จพนะพันวษาตัดสินให้สมเด็จพระพันวษาได้ทรงฟังนางวันทองพูด แล้ว ก็พิโรธยิ่งนัก ตรัสประนามนางวันทองว่าเป็นหญิงหลายใจ อย่าอยู่ให้หนักแผ่นดิน ให้เอาตัวไปฆ่าเสีย


 ข้อมูลตัวละคร ขุนช้างขุนแผน

พลายงาม

            พลายงาม    มีตำแหน่งราชการเป็น จมื่นไวยวรนาถ ซึ่งมักเรียกสั้นๆ ว่า พระไวย หรือหมื่นไวย เป็นลูกของขุนแผนกับนางวันทอง แต่ไปคลอดที่บ้านของขุนช้าง เพราะนางวันทองถูกขุนช้างฉุดไปขณะที่ท้องแก่ ยิ่งโตพลายงามก็ยิ่งละหม้ายคล้ายขุนแผนมากขึ้น ทำให้ขุนช้างเกลียดชัง วันหนึ่งจึงหลอกพลายงามไปฆ่าในป่า  แต่โหงพรายของขุนแผนมาช่วยไว้  นางวันทองจึงให้พลายงามไปอยู่กับนางทองประศรีผู้เป็นย่าที่กาญจนบุรี พลายงามได้เรียนวิชาจากตำราของพ่อจนเชี่ยวชาญมีความสามารถเช่นเดียวกับขุน แผน ต่อมาได้อาสายกทัพไปรบกับเชียงใหม่ แล้วถือโอกาสขออภัยโทษให้ขุนแผนออกจากคุกได้ เมื่อกลับจากสงครามก็ได้ตำแหน่งเป็นจมื่นไวยวรนาถ  และมีภรรยา ๒ คน คือ นางศรีมาลา และ นางสร้อยฟ้า

ขุนช้าง

            ขุนช้าง เจ้าสัวใหญ่แห่งเมืองสุพรรณบุรี ผู้ยึดถือความรักที่มีต่อนางพิมเป็นใหญ่เหนือสิ่งอื่นใดและกระทำทุกอย่างที่ จะได้นางพิมมาครอบครอง โดยไม่สนใจว่าการกระทำนั้นจะถูกต้องหรือไม่
                ขุนช้างมีลักษณะรูปชั่วตัวดำหัวล้านมาแต่กำเนิด นิสัยเจ้าเล่ห์เพทุบายเป็นบุตรของขุนศรีวิชัยและนางเทพทองซึ่งมีฐานะร่ำรวย มาก ขุนช้างแม้จะเกิดมาเป็นลูกเศรษฐีแต่ก็อาภัพถูกแม่เกลียดชังเพราะอับอายที่มี ลูกหัวล้าน จึงมักถูกแม่ด่าว่าอยู่เสมอและไม่ว่าจะเดินไปทางใดก็จะเป็นที่ขบขันล้อเลียน ของชาวบ้านทั่วไปเสมอ พอเป็นหนุ่มก็ได้นางแก่นแก้วเป็นภรรยาอยู่ด้วยกันได้ปีกว่านางก็ตาย จึงหันมาหมายปองนางพิมพิลาไลยแต่นางไม่ยินดีด้วยและได้แต่งงานกับพลายแก้ว แต่ขุนช้างก็ยังไม่ลดความพยายามคงใช้อุบายจนได้แต่งงานกับนางสมใจปรารถนา ข้อดีของขุนช้าง คือรักเดียวใจเดียวและเลี้ยงดูนางวันทองเป็นอย่างดีทำให้นางวันทองเริ่มเห็น ใจขุนช้าง

พิมพิลาไลย

            นางพิมพิลาไลย   หรือ นางวันทอง ผู้หญิงที่สวยที่สุดในเมืองสุพรรณบุรี  แต่ก็ปากจัดไม่แพ้ใครเพราะความสวยของนางทำให้เกิดการแย่งชิงกันระหว่างขุนช้างกับชุนแผน แต่สุดท้ายนางก็ต้องถูกประหารชีวิตเพราะไม่สามารถเลือกได้ว่าจะอยู่กับใคร ระหว่าง ขุนช้าง ขุนแผน หรือ พลายงามผู้เป็นลูก พระพันวษาจึงประณามนางวันทองว่าเป็นหญิงสองใจ
                นางพิมพิลาไลยเป็นหญิงรูปงามแต่ปากจัดเป็นบุตรของพันศรโยธาและนางศรีประจัน  ต่อมาได้แต่งงานกับพลายแก้วซึ่งภายหลังมีลูกชายด้วยกัน คือ พลายงาม  และได้เปลี่ยนชื่อเป็นนางวัน ต่อมานางถูกแม่บังคับให้แต่งงานใหม่กับขุนช้างทำให้ถูกประนามว่าเป็นหญิงสอง ใจ นางวันทองเป็นคนที่ไม่กล้าที่จะตัดสินใจ  เมื่อมีคดีฟ้องร้องถึงสมเด็จพระพันวษา ซึ่งพระองค์ให้นางเลือกว่าจะอยู่กับใครแต่นางตัดสินใจไม่ถูกจึงถูกสั่ง ประหารชีวิต
              
นางวันทองมีลักษณะสาวชาวบ้านจึงเป็นคนซื่อ ไม่ค่อยฉลาดเท่าใดนัก ทำอะไรก็ทำตามประสาหญิงชาวบ้าน แต่สังคมไทยมีความจำกัดให้ผู้หญิงอยู่ในกรอบของประเพณี จึงทำให้ดูเหมือนว่านางวันทองไม่รักนวลสงวนตัว
                
อย่างไรก็ตาม นางวันทองก็ยังมีภาพลักษณ์ด้านดีที่เห็นได้ชัด คือ ความละเอียดอ่อน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการรับรู้ถึงความดีของผู้อื่นที่ปฏิบัติต่อนาง ดังจะเห็นได้จาก  ถึงแม้นางจะไม่ได้รักขุนช้างแต่ด้วยความดีของขุนช้างและความผูกพันที่อยู่ กันมา 15 ปี ทำให้นางเป็นห่วงเป็นใยความทุกข์สุข และความรู้สึกของขุนช้างไม่น้อย   นางวันทองยังเป็นแม่ที่ดี คือเมื่อเห็นลูกกำลังกระทำผิดก็ไม่เห็นดีเห็นงามด้วย ดังจะเห็นได้จากตอนที่พลายงามบุกขึ้นเรือนขุนช้างในยามวิกาล  นอกจากนี้นางวันทองยังเป็นคนกล้าที่จะยอมรับชะตากรรมของตัวเอง มีน้ำใจเมตตา และให้อภัยโดยไม่เคียดแค้น        

ขุนแผน

            ขุนแผน หรือ พลายแก้ว นักรักและนักรบที่ไม่ยอมเป็นรองใคร มีนิสัยอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นที่รักแก่บุคคลทั่วไปบุคคลที่ขุนแผนยอมอ่อนข้อให้มีเพียงสองคน คือ สมเด็จพระพันวษา เจ้าแผ่นดินแห่งกรุงศรีอยุธยา และนางทองประศรีขุนแผนเป็นคนที่เจ้าชู้หาตัวจับได้ยาก แม้ว่าขุนแผนจะเป็นผู้มีฤทธิ์เดชเป็นที่ยำเกรง แต่ในด้านอื่น ขุนแผนเป็นรองขุนช้างอยู่สองประการใหญ่คือ ความรักเดียวใจเดียว และ ความร่ำรวย  ด้วยความเจ้าชู้ของขุนแผน นอกจากหน้าตาจะหล่อเหลาเอาการแล้ว ยังเป็นคนพูดจาอ่อนหวาน และ  ถนัดการใช้คาถามหาละลวยหากพบเห็นใครแล้วนึกชอบก็จะเกี้ยวพาราสี ซ้ำยังเป่าคาถาจนสาวหลงกันงมงายนอกเหนือจากนางพิมพิลาไลย  ซึ่งเป็นหญิงคนแรกในดวงใจของขุนแผนแล้ว ยังมีผู้หญิงอีก ๔ คน ที่ตกเป็นเมียของขุนแผน คือ นางสายทอง  นางลาวทอง  นางแก้วกิริยา  และนางบัวคลี่
            ขุนแผนเดิมชื่อพลายแก้วเป็นบุตรของขุนไกรพลพ่ายและนางทองประศรีมีรูปร่าง หน้าตางดงามคมสัน สติปัญญาเฉลียวฉลาด ด้วยลักษณะนิสัยเป็นคนเจ้าชู้และมีคารมคมคาย จึงง่ายต่อการพิชิตใจหญิงสาวที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของพลายแก้ว มีดาบฟ้าฟื้นเป็นอาวุธประจำตัว พาหนะคู่ใจคือม้าสีหมอก ได้บวชเณรและเรียนวิชาที่วัดส้มใหญ่ แล้วย้ายไปเรียนต่อที่วัดป่าเลไลยจนสุดท้ายไปเป็นศิษย์สมภารคง วัดแค มีความรู้ทางโหราศาสตร์ ปลุกผี อยู่ยงคงกระพันคาถามหาละลวยทำให้ผู้หญิงรักตลอดจนวิชาจากตำรับพิชัยสงคราม และยังมีความสามารถเทศนได้ไพเราะจับใจอีกด้วย   ต่อมาสึกจากเณรแล้วแต่งงานกับนางพิมพาลาไลย ไม่นานก็ถูกเรียกตัวไปเป็นแม่ทัพรบกับเชียงใหม่    ครั้นได้ชัยชนะกลับมาก็ได้เป็นขุนแผนแสนสะท้านแต่ปรากฎว่าภรรยาแต่งงาน ใหม่กับขุนช้าง  ภายหลังขุนแผนต้องโทษถูกจำคุกถึง ๑๕ ปี จึงพ้นโทษ และทำสงครามกับเชียงใหม่อีกครั้งเมื่อชนะกลับมาก็ได้ตำแหน่งเป็นพระสุริน ทรฤาไชย เจ้าเมืองกาญจนบุรี

สมเด็จพระพันวษา

            สมเด็จพระพันวษา เป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ยุคนี้เป็นยุคที่บ้านเมืองเจริญรุ่งรือง มีความอุดมสมบูรณ์ราษฎรทั้งหลายอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข บรรดาประเทศใกล้เคียงก็อ่อนน้อม เพราะยำเกรงบารมี สมเด็จพระพันวษามีนิสัย โกรธง่าย  แต่พระองค์ก็นับว่าเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความยุติธรรมต่อพวกทหารเสนา อำมาตย์ และราษฎรพอสมควร เมื่อมี คดีฟ้องร้องกัน ก็จะให้มีการไต่สวน และพิสูจน์ความจริง
คุณค่าด้านวรรณศิลป์

สะท้อนถึงอารมณ์โกรธแค้นและสะเทือนใจ
...ยิ่งคิดเดือดดาลทะยานใจ                ฉวยได้กระดานชะนวนมา
ร่างฟ้องท่องเทียบให้เรียบร้อย                        ถ้อยคำถี่ถ้วนเป็นหนักหนา...

มีการพรรณณาถึงเรื่องฝันร้าย
...ครั้งนี้น่าจะมีอันตราย                    ฝันร้ายสาหัสตัดตำรา
พิเคราะห์ดูทั้งยามอัฐกาล                 ก็บันดาลฤกษ์แรงเป็นหนักหนา
มิรู้ที่จะแถลงแจ้งกิจจา                     กอดเมียเมินหน้าน้ำตากระเด็น...

ใช้ถ้อยคำเกิดความเศร้าสะเทือนใจสงสารในชะตากรรมของตัวละคร
...วันนี้แม่จะลาพ่อพลายแล้ว              จะจำจากลูกแก้วไปสูญสิ้น
พอบ่ายก็จะตายลงถมดิน                  ผินหน้ามาแม่จะขอชม
เกิดมาไม่เหมือนกับเขาอื่น                มิได้ชื่นเชยชิดสนิทสนม...
...ร่ำพลางนางกอดพระหมื่นไวย          น้ำตกไหลซบเซาไม่เงยหน้า
ง่วงหงุบฟุบลงกับพสุธา                    กอดลูกยาแน่นิ่งไม่ติงกาย ฯ

 การบรรยายโวหาร
ฟ้าขาวดาวเด่นดวงสว่าง                   จันทร์กระจ่างทรงกลดหมดมฆสิ้น
จึงเซ่นเหล้าข้าวปลาให้พรายกิน          เสกขมิ้นว่านยาเข้าทาตัว

เชิงเปรียบเทียบ
อีวันทองตัวมันเหมือนแก้ว                 ถ้าตัดโคนขาดแล้วก็ใบเหี่ยว
ใครจะควรสู่สมอยู่กลมเกลียว             ให้เด็ดเดี่ยวรู้กันแต่วันนี้

สัมผัสแบบกลอนแปด
ครานั้นพระองค์ทรงธรณินทร์                        หาได้ยินวันทองทูลขึ้นไม่
พระตรัสความถามซักไปทันใด                        ฤามึงไม่รักใครให้ว่ามา

กวีแทรกอารมณ์ขันในการแต่ง
ขุนช้างเห็นข้าไม่มาใกล้                    ขัดใจลุกขึ้นทั้งแก้ผ้า
แหงนเถ่อเป้อปังยืนจังกา                  ย่างเท้าก้าวมาไม่รู้ต้ว
ยายจันงันงกยกมือไหว้                     นั่นพ่อจะไปไหนพ่อทูนหัว
ไม่นุ่งผ่อนนุ่งผ้าดูน่ากลัว                   ขุนช้างมองดูตัวก็ตกใจ


คุณค่าด้านสังคม
            แสดงค่านิยมและความเชื่อของคนในสังคมสมัยอยุธยาซึ่งแม้ ว่าจะไม่อาจประเมินข้อเท็จจริงทางสังคมได้เช่นเดียวกันกับเอกสารทางประวัติ ศาสตร์  แต่วรรณคดีเรื่องนี้ก็เป็นภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นโลกทัศน์ของครอบครัวขุน นางในสมัยกรุงศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์ว่ามีความจงรักภักดีต่อองค์พระมหา กษัตริย์อย่างสุดสูงเพียงใด สะท้อนให้ว่าในสังคมสมัยนั้นกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชยึ่งมีอำนาจ อยู่เหนือกฎหมายและสะท้อนให้เห็นในสมัยนั้นจะมีการตีฆ้องบอกเวลาและจะมี เรื่องเกี่ยวความเชื่อเช่นเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจ   คาถาอาคม   เรื่องโชคชะตาดวงของคน


ที่มาของเรื่อง ขุนช้างขุนแผน

 (1)   เรื่องนี้เชื่อกันว่าเกิดขึ้นจริงในสมัยสมเด็จพระพันวษา แห่ง กรุงศรีอยุธยา
      - ตำนวนเดิมเล่าเพียงว่า มีนายทหารผู้มีฝีมือนายหนึ่ง มีตำแหน่งเป็นขุนแผน ได้ถวาย ดาบฟ้าฟื้นแด่สมเด็จพระพันวษา
(2)   ต่อมามีการนำเรื่อง ขุนช้างขุนแผน มาแต่งเป็นกลอนสุภาพและใช้ บทขับเสภา โดยใช้กรับเป็นเครื่องประกอบจังหวะ
     - บทขับเสภาที่นิยมมากที่สุดคือเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ซึ่งได้รับการยกย่อจากวรรณคดีสโมสรว่า เป็นยอดของกลอนสุภาพที่มีความไพเราะ ดีเลิศทั้งเนื้อเรื่องและ กระบวนกลอน
(3)   บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน มีกวีเอกหลายท่านร่วมกันแต่ง สันนิษฐานว่าแต่งตั้งแต่สมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
     - สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า
 *ตอน ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง และตอน ขุนแผนพานางวันทองหนี เป็นพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
          *ตอนขุนช้างขอนางพิม และ ตอนขุนช้างตามนางวันทอง เป็นพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว(เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์)
          *ตอน กำเนิดพลายงาม เป็นสำนวนของสุนทรภู่
(4)   ตอน ขุนช้างถวายฎีกานี้ ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง แต่เป็นหนึ่งใน ตอนที่ได้รับการยกย่องจากสมาคมวรรณคดี (สมัย ร.7)ว่าแต่งดีเป็นเยี่ยม โดยเฉพาะกระบวนกลอนที่สื่ออารมณ์สะเทือนใจ

ที่มา : http://baresta69.blogspot.com/2015/02/15.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น